สานเส้นอย่างไรให้ปังเว่อ! กับเทคนิคการสานเส้นเบื้องต้น! (ตอนที่ 2)

สวัสดีครับเพื่อนๆชาว Manga Course Party ทุกๆคน ทิ้งระยะห่างไปพอสมควรเลยหลังจากที่เราได้พูดถึงหัวข้อ สานเส้นอย่างไรให้ปังเว่อ! กับเทคนิคการสานเส้นเบื้องต้น! (ตอนที่ 1) ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับมาพบกันกับตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความเรื่องนี้ครับ

ก่อนอื่นเรามาเท้าความเดิมเกี่ยวกับในตอนที่แล้วกันสักเล็กน้อย



สานเส้น 1 ชั้น
- สานเส้น 1 ชั้น คือการสานเส้นไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยช่องไฟระหว่างเส้นแต่ละเส้นที่เท่ากัน

- เทคนิคการสานเส้น 1 ชั้น ลงบนพื้นที่กว้างๆ จะใช้วิธีการสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆวางเรียงต่อๆกันจนเต็มพื้นที่ แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ วางกลุ่มก้อนการสานเส้นทุกก้อนไปในองศาเดียวกัน และการวางกลุ่มก้อนการสานเส้นในแต่ละก้อนไปคนละองศากัน

สานเส้น 2 ชั้น
- สานเส้น 2 ชั้น คือการสานเส้นชั้นที่สองทับลงบนการสานเส้นชั้นแรกลงไป โดยยังคงใช้ช่องไฟระหว่างเส้นที่มีระยะห่างเท่าๆกัน แต่ใช้องศาในการสานเส้นขัดทับต่างออกไปจากทิศทางของการสานเส้นชั้นแรก

- องศาของการสานเส้นชั้นที่ 2 จะมีผลต่อลักษณะงาน นั่นก็คือหากเรายิ่งใช้องศาขัดทับมากเท่าใด ก็จะยิ่งได้ลักษณะงานสานเส้นที่ดูแข็ง หยาบ และมีมีtextureมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

-เทคนิคการสานเส้น 2 ชั้น ลงบนพื้นที่กว้างๆ ยังคงใช้เทคนิคเดียวกับการสานเส้น 1 ชั้นทุกประการ

สาเหตุที่เราต้องทำการทบทวนการสานเส้น 1 - 2 ชั้นให้ดีเสียก่อน เพราะบทความนี้จะพูดถึงการสานเส้นในชั้นที่ 3 - 4 ที่ยังต้องใช้พื้นฐานความแม่นยำจากการสานเส้น 1 - 2 ชั้นเป็นอย่างมากครับ และก่อนที่จะไปยังเทคนิคการสานเส้นชั้นที่ 3 - 4 นั้น เรายังมีเทคนิคเพิ่มเติมมาฝากกันด้วยครับ


เทคนิคการFadeเส้น

การFadeเส้น คือการไล่น้ำหนักให้แก่กลุ่มก้อนการสานเส้นที่เราทำการสานลงไปในพื้นที่ที่ต้องการ โดยมีการไล่น้ำหนักความเข้มของกลุ่มก้อนการสานเส้นจากน้ำหนักเข้มไปหาน้ำหนักอ่อนได้ (เปรียบเทียบก็เหมือนการไล่น้ำหนักเข้ม - อ่อน ของงานวาดแส้นแรเงาด้วยดินสอครับ)
วิธีง่ายๆสำหรับการFadeเส้นเลยก็คือ ในช่วงปลายกลุ่มก้อนการสานเส้นที่เราต้องการจะลงน้ำหนักการสานให้จางลง เราจะใช้วิธีการ "ลดความยาวเส้น" ในแต่ละกลุ่มก้อนให้สั้นลง รวมถึงใช้ช่องไฟ "ทั้งระหว่างเส้นและระหว่างก้อน" ให้มีความห่างมากกว่าเดิมเล็กน้อย เมื่อนำทั้งสองวิธีมารวมกันในจังหวะที่เราจะทำการไล่น้ำหนักแล้ว ก็จะได้งานการสานเส้นที่มีลักษณะFadeที่ดูมีน้ำหนักงานที่ฟุ้งและเบาลงได้ครับ และสามารถนำไปใช้กับงานการสานเส้นกี่ชั้นก็ได้เช่นกัน

หลังจากเราได้เทคนิคการFadeเส้นแล้ว จากนี้ไปเราจะลองเอามาใช้ร่วมกับตัวอย่างงานสานเส้นในบทความนี้ด้วยละกันครับ



สานเส้น 3 - 4 ชั้น


การสานเส้นสามชั้น จะเป็นการต่อยอดจากการสานเส้น 2 ชั้นอีกทีหนึ่ง หรือก็คือการใช้เส้นชั้นที่ 3 สานทับลงไปบน 2 ชั้นแรกนั่นเอง ซึ่งโดยหลักๆแล้วยังคงใช้เทคนิค วิธีการ รวมถึงทฤษฎีเรื่ององศาการใช้เส้นขัดเหมือนเดิมทุกประการ

แต่จากภาพตัวอย่างด้านบนซึ่งเป็นการใช้องศาการขัดเส้นน้อยๆ จะเห็นว่าช่องไฟบนพื้นที่งานก็มีน้อยลงไปด้วยเช่นกัน ทำให้ภาพดูอึดอัดแน่นตามากขึ้น ข้อควรแนะนำคือในพื้นที่ที่เราชี้เฉพาะเจาะจงเลยว่าจะทำการสานเส้นมากกว่า 2 ชั้นขึ้นไป ให้พยายามใช้เส้นขัดที่มีองศามากๆเข้าไว้ จะได้เห็นตารางช่องไฟที่กว้างขึ้น ทำให้งานดูสบายตาขึ้น ดั่งเช่นภาพตัวอย่างการสานเส้น 3 ชั้นด้านล่างนี้ครับ


จะเห็นได้ว่านอกจากจะยังคงมีช่องไฟระหว่างเส้นที่สานทับกันลงไปหลายๆชั้นที่ช่วยทำให้ดูสบายตาขึ้นแล้ว ยังช่วยให้งานดูมีระเบียบเรียบร้อยขึ้นอีกด้วยครับ


และตามด้วยการสานเส้น 4 ชั้นครับ ซึ่งยังคงใช้เทคนิคการสานเส้นเหมือน 1 - 3 ชั้นทุกประการ แต่จะมีเงื่อนไขเล็กๆน้อยๆเหมือนการสานเส้น 3 ชั้น ตรงที่หากใช้องศาในการขัดเส้นที่น้อยเกินไปก็จะทำให้งานดูแน่น ดูอึดอัดมากๆเช่นกัน เลยแนะนำให้ใช้การสานเส้นขัดมากๆ ตามภาพตัวอย่างข้างล่างนี้ครับ


แต่ข้อควรระวังสำหรับการสานเส้น 3 - 4 ชั้นนั้น คือการคอยดูว่าทิศทางที่เราจะสานลงไปในชั้นหลังๆควรจะเป็นทิศทางไหน องศาเท่าไรดี เนื่องจากหลายคนที่ไม่เคยชินอาจมีปัญหา "การงงเส้น" ขึ้นได้ครับ เนื่องจากเส้นที่ขีดลงไปนั้นเริ่มเยอะ เริ่มตีกัน ยิ่งใครที่ขีดเส้นลงไปอย่างไม่เป็นระเบียบ ไม่มีขั้นตอนหรือpatternที่ดี ก็จะยิ่งเกิดอาการงงเส้นขึ้นได้โดยง่าย อาจทำให้ตัวงานสานเส้นที่เสร็จแล้วดูเลอะ แน่น ไม่สวยงามตามความตั้งใจได้ครับ


....................................................................................
...........................................................
..........................................
.............................
.........
....
....
.........
.............................
..........................................
...........................................................
....................................................................................



ยังไม่จบครับ! ฮาา

ยังมีของแถมเพิ่มเติมให้อีกเล็กน้อย สำหรับเพื่อนๆที่ตามอ่านมาจนถึงตอนนี้อาจมีคำถามว่า เราสามารถนำเทคนิคการสานเส้นทั้งหมดที่ว่ามาดัดแปลงอย่างไรได้บ้าง คำตอบคือได้ครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของ "การใช้รูปร่างของเส้น" และ "การกำหนดทิศทางของเส้น" เป็นปัจจัยหลักที่สามารถทำให้เรามีอิสระในการสานเส้นมายิ่งขึ้นไปอีก

การใช้รูปร่างของเส้น

การใช้รูปร่างของเส้น คือการเปลี่ยนจากการสานด้วยเส้นตรงตามปกติที่เราได้นำเสนอมาตลอดในบทความทั้งสองตอนนี้ เป็นเส้นที่มีรูปร่างอื่น ซึ่งในที่นี้เราจะขอนำเสนอการใช้ "เส้นโค้ง" แทนที่การใช้เส้นตรงครับ

การใช้เส้นโค้ง เป็นเพียงการเปลี่ยนเส้นทุกเส้นที่เราสานลงไปในงานให้กลายเป็นเส้นที่โค้งขึ้นเล็กน้อย ส่วนวิธีหรือรูปแบบการสานอื่นๆยังคงใช้เหมือนเดิมเท่านั้นเอง ถามว่าการสานด้วยเส้นโค้งมีประโยชน์อย่างไร? จะทำให้ตัวงานเปลี่ยนไปยังไง? คำตอบคือเส้นโค้งจะเป็นเส้นที่ดูมีอิสระ มีความนุ่มนวลมากกว่าเส้นตรง เวลาที่สานเส้นออกมาโดยที่ไม่ว่าจะสานกี่ชั้นหรือใช้องศาของเส้นขัดกันมากแค่ไหน ก็จะยังคงให้ความรู้สึกนุ่มนวลตามากกว่าการสานด้วยเส้นตรงตามปกติ อีกทั้งการสานเส้นขัดกันด้วยเส้นโค้งนี้ จะทำให้ช่องไฟภายในของกานสานเส้นนั้นเกิดช่องที่กว้างขึ้น มีรูปร่างที่บิดและนุ่มนวลขึ้น ส่งผลให้การสานเล้น 3 - 4 ชั้นด้วยเส้นโค้งจะไม่ทำให้งานดูมืดทึบหรือแน่นตาจนเกินไปด้วยครับ

ตัวอย่างงานจริง ที่สานเส้นด้วยเส้นโค้ง



ในงานตัวอย่าง เราจะใช้เทคนิคการสานเส้นโค้งกับbackgroundด้านหลังที่ดูขะมุกขะมัว ผลก็คือเราจะได้ตัวงานที่รู้สึกว่ามันไม่เข้มหรือมืดทึบจนเกินไป (แม้ว่าเราจะสานเส้นทับกันเกิน 4 ชั้นขึ้นไปก็ตาม) อีกทั้งยังดูนุ่มนวลตา ให้ความรู้สึกมีการเคลื่อนไหว ไม่ทำให้งานแข็งกระด้างจนเกินไปด้วยครับ

ซึ่งหลังจากอ่านเกี่ยวกับการสานเส้นด้วยเส้นโค้งมาทั้งหมด เพื่อนๆหลายๆคนคงรู้สึกว่ามันช่างดีแสนดีกว่าการสานเส้นด้วยเส้นตรงปกติเป็นไหนๆ แต่อยากจะบอกว่าในความเป็นจริงแล้วเราไม่ควรสานเส้นด้วยเส้นโค้งกับงานทุกๆจุดมากจนเกินไป สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญคือดูว่าพื้นที่ในบริเวณนั้นๆ การสานเส้นด้วยเส้นแบบไหนจึงจะเหมาะสมมากกว่า ดั่งเช่นการสานเส้นสิ่งก่อสร้างหรือวัตถุที่มีความแข็ง มีtextureที่ดูดิบหยาบ การสานเส้นด้วยเส้นโค้งก็อาจจะดูไม่ค่อยเหมาะเสียเท่าไรนัก เป็นต้น

หรือหากเพื่อนๆคนไหนสนใจตัวอย่างงานการ์ตูนที่ใช้การสานเส้นด้วยเส้นโค้งเยอะๆ ขอแนะนำเป็นการ์ตูนเรื่อง Berserk ของ อาจารย์ มิอุระ เคนทาโร่ ที่ใช้การสานเส้นค่อนข้างเยอะ และเป็นเส้นโค้งเสียส่วนใหญ่อีกด้วยครับ

การกำหนดทิศทางของเส้น

การกำหนดทิศทางของเส้น คือเทคนิคการต่อเส้น หรือต่อกลุ่มก้อนการสานเส้นให้เคลื่อนไหวไปในทิศทางหรือรูปร่างต่างๆ อธิบายแบบนี้อาจจะงง ไปดูภาพตัวอย่างกันดีกว่าครับ


ภาพนี้เราทำการกำหนดทิศทางของเส้นสานด้วยการใช้ดินสอไกด์ให้โค้งมารวมกันที่ตรงกลางภาพก่อน จากนั้นก็ค่อยๆสานตามทิศทางที่ไกด์ไว้ ก็จะได้ตามภาพครับ หรือถ้าเราสานเส้นชั้นที่ 2 ลงไป ก็จะได้ดังนี้


หรือการกำหนดทิศทางของการสานเส้น ให้เกิดรูปร่างต่างๆขึ้นมาได้ เช่น


หรือเพิ่มการสานเส้นชั้นที่ 2 เข้าไป เพื่อให้ลายเกิดมิติและระยะขึ้นมา


ซึ่งลวดลายการสานเส้นพวกนี้ เราอาจจะเคยเห็นเทคนิคภาพแบบนี้กับการ์ตูนยุคเก่าๆ การ์ตูนผีของญี่ปุ่น ที่นิยมใช้เทคนิคนี้ให้ภาพเกิดความขะมุกขะมัวทางบรรยากาศ เป็นต้น
ซึ่งข้อควรระวังของการสานเส้นประเภทนี้ คือการสานเส้นในชั้นที่ 2 หรือชั้นต่อๆไปครับ เนื่องจากทิศทางของเส้นในชั้นแรกนั้นจะไม่ตายตัว การสานชั้นที่ 2 ทับลงไปจึงต้องคอยดูให้้ดีอยู่ตลอดเวลาว่าทิศทางของเส้นชั้นที่ 1 ที่เราสานลงไปแล้วนั้นพริ้วไหลไปทางไหน ก่อนที่จะเลือกทิศทางการสานทับที่เหมาะสมค่อยๆขีดลงไปในชั้นที่ 2 ครับ


และนี่ก็คือเนื้อหาคร่าวๆ เกี่ยวกับเทคนิคการสานเส้นแบบต่างๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังคงมีเทคนิคอีกมากมายหลายรูปแบบที่ไม่ตายตัวนอกเหนือจากบทความของเราอีกเยอะแยะมากมายครับ ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดที่ว่ามาน้ีเราก็เคยใช้สอนหรือแนะนำคนที่เคยเรียนกับเรามาแล้วเช่นกัน

ตัวอย่างผลงานนักเรียนที่เคยเรียนเรื่องเทคนิคการสานเส้น (ด้วย G-pen) กับทางเรา







ที่นำตัวอย่างผลงานมาให้ได้ดูกัน ไม่ได้พยายามจะบอกว่าถ้าเรียนกับเราแล้วผลงานจะดีแต่อย่างใดครับ งานสานเส้นเป็นอีกหนึ่งประเภทงานที่ต้องอาศับความรู้ความเข้าใจ สมาธิ และประสบการณ์เป็นอย่างมากในการสร้างสรรค์ผลงานให้ได้ออกมาตามความต้องการของเรา และงานสานเส้นก็เป็นเพียงหนึ่งเทคนิคอันเป็นองค์ประกอบเล็กๆส่วนหนึ่งของงานศิลปะ งานการ์ตูน ดั่งเช่นผลงานด้านบนที่แสดงให้เห็นถึงความหลากหลายของประเภทงานได้ ไม่ว่าจะเป็นงานวาดเส้นแรเงาที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับงานดินสอก็ดี ตลอดจนกระทั่งนำมาใช้เป็นเทคนิคสไตล์ภาพสำหรับงานการ์ตูนก็ดี ก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนตัวและประสบการณ์การฝึกฝนของพวกเราเป็นหลักครับ


....................................................................................
...........................................................
..........................................
.............................
.........
....
....
.........
.............................
..........................................
...........................................................
....................................................................................

Tip!

สำหรับคนที่อยากฝึกฝนการสานเส้น แต่ไม่รู้ว่าควรจะเริ่มฝึกอะไรบ้าง ไต่stepอย่างไรบ้าง หรือไม่สามารถมาเรียนกับทาง Manga Course Party ของเราได้ (แล้วบทความของเราก็ไม่ใช่บทความเพื่อการขายคอร์สเรียนด้วยครับ ฮา) ....เรามีขั้นตอนหรือ step ในการฝึกมาฝากกัน

1. ฝึกขีดเส้นตรงครับ เริ่มจากความยาว 3 cm. โดยการตีเส้นบรรทัดกว้าง 3 cm.ขึ้นมา แล้วก็ขีดเส้นตรงเต็มบรรทัด ให้ทุกเส้นตรงที่สุด มีช่องไฟที่ห่างเท่ากันที่สุด (ช่องไฟห่างกันประมาณ 1 mm.) หากใช้ g-penในการฝึก ต้องพยายามให้ทุกเส้นมีน้ำหนักเส้นที่เท่ากันด้วยครับ


2. ฝึกขีดเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆ ช่องไฟน้อยๆ โดยฝึกขีดเป็นกลุ่มในทิศทางต่างๆ เพื่อสร้างความเคยชินเวลาใช้งานจริงให้ได้มากที่สุดครับ


3. ฝึกสานเส้นในชั้นต่างๆ ตั้งแต่ 1 - 4 ชั้น (ตามบทความทั้งหมดที่เราได้แนะนำไป) เน้นสานเป็นกลุ่มเล็กก่อน โดยที่อาจจะลองฝึกการใช้เส้นโค้งไปด้วยก็ได้ครับ


4. ฝึกต่อก้อน คือการฝึกสานเส้น1ชั้นเป็นกลุ่มเล็กๆ เรียงต่อกันบนพื้นที่ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุกกลุ่มไปทางเดียวกัน หรือให้ทุกกลุ่มไปคนละทางกัน ตามภาพตัวอย่างครับ


5. ฝึกการ Fade วิธีการทำก็สามารถย้อนกลับไปอ่านตามบทความข้างต้นได้ครับ


6. ฝึกไล่น้ำหนักการสานเส้น การฝึกนี้เบื้องต้นอาจจะแบ่งเป็นช่องใหญ่ๆ แต่ละช่องก็ทำการสานเส้นลงไปให้เต็มที่ละชั้น ทีละstepตามภาพก่อน ซึ่งพอชำนาญแล้ว เราอาจเพิ่มการฝึกเป็นการไล่ fade ให้แต่ละน้ำหนักกลืนเข้าหากันได้ครับ


สุดท้ายนี้ เพื่อนๆคนไหนที่มีข้อสงสัยอะไรเกี่ยวกับเทคนิคการสานเส้น ก็สามารถสอบถามกันเข้ามาได้นะครับ ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซท์แห่งนี้้หรือทางแฟนเพจ facebook ของเรา หรือใครที่คิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ ก็สามารถช่วยกันแชร์ต่อๆไปได้ตามสะดวกครับ

แล้วเจอกันในบทความหน้า ขอให้สนุกกับการสานเส้นครับ.

สานเส้นอย่างไรให้ปังเว่อ! กับเทคนิคการสานเส้นเบื้องต้น! (ตอนที่ 1)

สวัสดีครับเพื่อนๆชาว Manga Course Party ทุกคน กลับมาพบกันอีกครั้งหนึ่งหลังจากห่างหายกันไปนานกับการอัพเดทบทความใหม่ๆจากทางพวกเรากันนะครับ พอดีได้โอกาสอันเหมาะเจาะลงตัวที่จะกลับมาเขียนบทความเกี่ยวการเทคนิคการวาดรูปวาดการ์ตูนให้เพื่อนๆได้อ่านกัน (อันที่จริงแล้วคืองานยุ่งมากครับ เลยไม่ว่างเลย ฮา..) อีกทั้งมีแพลนว่าจะอัพเดทหน้าเว็บของเราได้ดูดี น่าอ่านน่าติดตามกันมากขึ้นด้วย จากนี้ไปจึงจะกลับมาเขียนบทความให้ตัวเว็บมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่องมากกว่านี้ด้วยครับผม

ครั้งนี้จะกลับมาพูดถึงอีกหนึ่งเทคนิคในการวาดรูป ซึ่งมีประโยชน์มากๆในแง่ของการนำไปประยุกต์ใช้ในงานการ์ตูนด้านเทคนิคภาพ หรือแม้กระทั่งใช้ฝึกซ้อมมือตัวเองให้นิ่งมากขึ้นสำหรับการวาดหรือการตัดเส้นงานของตัวเอง เทคนิคที่ว่านี้ก็คือ “การสานเส้น” นั่นเองครับ


การสานเส้น (Hatching) จริงๆแล้วเป็นเทคนิคการใช้เส้นในรูปแบบต่างๆสำหรับงานวาดรูป แต่ในทั้งนี้เราจะบีบให้มันแคบลงเฉพาะในงานการ์ตูนที่เราอาจจะเคยเห็นกันบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการสานเส้นแทนแสงเงาตามตัวละคร เสื้อผ้า ฉากหลัง รวมไปถึงเอฟเฟคต่างๆที่มีการขีดเส้นขัดกันไปมาให้เกิดshadeแทนสีหรือแสงเงาจนเกิดอารมณ์งานตามที่เราต้องการได้





ตัวอย่างงานสานเส้นที่ใช้กับแสงเงาของวัตถุชนิดต่างๆ เช่นผิวเนื้อ เสื้อผ้า หรือสิ่งของ




ตัวอย่างงานสานเส้นที่ใช้กับบรรยากาศฉากหลัง


จะเห็นได้ว่าการสานเส้นนั้นให้อีกหนึ่งอารมณ์งานทดแทนการลงสีหรือการใส่สกรีนโทน เพื่อให้ภาพเกิดแสงเงา มิติ ลวยลาย textureหรือพื้นผิวได้เป็นอย่างดี และตามที่เกริ่นไปข้างต้นแล้วครับว่านอกจากจะนำมาใช้กับงานวาดเขียนให้ได้เทคนิคที่สวยงามแล้ว การสานเส้นยังเป็นการฝึกมือของเราให้เกิดความแข็งแรง ความนิ่ง และความแม่นยำในการใช้งานด้านการวาดหรือการตัดเส้นมากยิ่งขึ้นครับ เนื่องจากการสานเส้นนั้นเป็นเทคนิคที่ต้องใช้สมาธิในการควบคุมเส้นทุกเส้นจำนวนมากมายมหาศาลที่ขีดลงไปในงาน ให้มีช่องไฟเป็นระเบียบเรียบร้อย ให้น้ำหนักมือที่ใช้ในเส้นทุกเส้นต้องเท่ากัน เสมอกัน จึงถือเป็นการฝึกตัวเองให้ได้ผลในหลายๆทางอีกด้วยครับ





ว่าด้วยเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการสานเส้นกันดีกว่า...หลักๆแล้วการสานเส้นนั้นไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องใช้กับอุปกรณ์ขี้เขียนประเภทไหน จะเป็นดินสอ ปากกาทุกประเภท พู่กัน หรือเมาส์ปากกา ก็สามารถใช้ได้ทั้งนั้นเช่นกันครับ (หรือแม้กระทั่งโปรแกรมวาดภาพลงสีหลายๆโปรแกรมบน computer เอง ก็มีหัวbrushที่เป็นหัวสานเส้นสำเร็จรูปแบบต่างๆมาให้เราได้เลือกใช้กันแล้วด้วยครับ) แต่ในงานการ์ตูนส่วนใหญ่แล้วเราคงเคยเห็นการสานเส้นด้วยปากกาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นปากกา pigment ink ทั่วๆไป หรือใช้หัวปากกาจุ่มหมึกอย่าง g-pen ก็มี แต่ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์ชนิดใดก็ตามแต่ การสานเส้นนั้นล้วนมีกลวิธีหรือทฤษฎีการฝึกฝนใช้งานที่ไม่ต่างกันครับ เดี๋ยวเราจะมาพูดถึงวิธีการสานเส้นแบบต่างๆกันเลยดีกว่า (หลังจากอ่านกันมาตั้งนาน คนอ่านส่วนใหญ่คงบอกว่า...รอช่วงนี้อยู่นี่แหละ ฮาาา)



การสานเส้นขั้นพื้นฐาน
การสานเส้นขั้นพื้นฐาน อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆเลยคือการขีดเส้นเรียงกันเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยพยายามให้ระยะห่างระหว่างเส้น (ในที่นี้จะขอเรียกว่า ช่องไฟ ) มีความห่างเท่าๆกันและไม่ควรห่างจากกันมากเกินไป อาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมรูปด้านบนถึงมีกลุ่มการสานเส้นอยู่สองขนาด จำแนกง่ายๆว่าแบบกลุ่มใหญ่จะใช้เส้นที่ยาวกว่า ช่องไฟที่ค่อนข้างห่างกว่า และมีความยากกว่า เหมาะสำหรับใช้ในการขีดเพื่อฝึกความนิ่งของมือ ในขณะที่การสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆนั้นจะเป็นขนาดที่เหมาะเอาไว้ใช้กับการทำงานจริงๆเสียมากกว่า อาจจะดูเหมือนง่ายกว่ากลุ่มใหญ่ๆตรงที่ใช้เส้นสั้น มีขนาดเล็ก แต่ก็ต้องอย่าลืมคำนึงว่าช่องไฟระหว่างเส้นนั้นก็จะแคบลงด้วยเช่นกัน  ซึ่งหากไม่ระวังหรือกะระยะช่องไฟให้ดีในขณะที่ขีดลงไปก็จะทำให้งานเสียได้ง่ายเช่นกันครับ

พูดถึงการใช้งานจริงแล้ว เราจะเรียกการสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆไปในทิศทางเดียวกันแบบนี้ว่า “สานเส้น1ชั้น” ...ฟังดูแล้วเดี๋ยวคงจะมีการสานเส้น2ชั้น 3ชั้น ตามกันมาอย่างแน่นอนครับ...ฮา

การสานเส้น1ชั้นสำหรับใส่ลงไปในงานจริงของเรานั้นอาจจะมีคำถามตามมาว่า หากเป็นพื้นที่ใหญ่ จะมีวิธีสานเส้นลงไปยังไงกับพื้นที่ดังกล่าว...เราจำแนกวิธีการสานเส้นบนพื้นที่ที่เราต้องการให้ดูกันสองแบบครับ


การถมพื้นที่ให้เต็มด้วยเทคนิคการสานเส้นนั้น เราจะใช้วิธีการสานเส้น1ชั้นเป็นก้อนเล็ก วางต่อๆกันไปเรื่อยๆในแต่ละก้อนจะเต็มพื้นที่ที่เราต้องการ ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองแบบตามภาพด้านบน จะมีข้อแตกต่างกันในเรื่องของทิศทางการสานเส้นในแต่ละก้อนที่ไม่เหมือนกัน

          - แบบแรกคือแบบที่ทุกๆก้อนในการสานเส้น1ชั้นนั้น เราจะสานเรียงไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด การสานเส้นลักษณะนี้จะให้อารมณ์ด้านภาพที่ดูนุ่มนวลตา ดูอ่อนนุ่มอันเนื่องมาจากทิศทางของทุกๆเส้นไหลเรียงไปในทางเดียวกัน
          - ในขณะที่แบบที่สองนั้นจะใช้วิธีจัดเรียงการสานเส้น1ชั้นในแต่ละก้อนไปในทิศทางหรือองศาที่ต่างกัน ให้ความรู้สึกหยาบและมีพื้นผิวมากกว่าแบบแรกเยอะครับ

การสานสั้น1ชั้นนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับการสานเส้นในลำดับชั้นต่อๆไป เนื่องจากการสานเส้น1ชั้นนั้นจะเปรียบเสมือนการ “รองพื้นงาน” หากน้ำหนักเส้นหรือช่องไฟทั้งหมดของการรองพื้นงานดูเละเทะไม่สวยงาม ก็จะส่งผลไปยังการสานเส้นชั้นที่2...ชั้นที่3 ได้โดยง่ายครับ

               *tip*
               อย่าละเลยการฝึกสานเส้น1ชั้นแบบเป็นกลุ่มขนาดใหญ่อยู่เสมอ เพื่อให้ข้อมือของเราจดจำความรู้สึกที่ใช้ในการขีดอย่างถูกต้องแม่นยำได้ครับ



การสานเส้น2ชั้น
การสานเส้น2ชั้นเป็นstepถัดมาของการสานเส้น1ชั้น ซึ่งเราจะมีโอกาสได้ใช้งานค่อนข้างบ่อยสำหรับการสานเส้น2ชั้นนี้ โดยการสานเส้นเป็นกลุ่มเล็กๆเช่นเคย ทับลงไปบนพื้นที่ที่ทำการสานเส้นชั้นแรกเอาไว้แล้วโดยใช้องศาของเส้นไม่ซ้ำกับการการสานเส้นชั้นแรกที่ได้ทำการสานลงไป โดยจากภาพจะเป็นว่าการสานเส้น2ชั้นนี้จะแบ่งออกเป็นสองรูปแบบที่แตกต่างกันในด้านขององศาการขัดเส้นครับ

          -แบบแรก จะใช้เส้นขัดประมาณ90องศา จากทิศทางเดิมของการสานเส้นชั้นแรก ทำให้ได้งานที่ดูมีช่องไฟเป็นtextureชัดเจน สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นผิวที่ค่อนข้างแข็ง
          - แบบที่สอง จะใช้เส้นขัดที่มีองศาน้อยๆ ประมาณ30องศา ทำให้ได้เส้นที่ดูขัดเฉียงค่อนข้างไปทางเดียวการการสานเส้นเป็นก้อนๆในชั้นแรก สร้างความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นผิวที่มีความนุ่มมากกว่าการสานเส้น2ชั้นชนิดแรก

นอกจากนี้เรายังสามารถนำเทคนิคการสานเส้นแบบสองชั้น ทั้งสองวิธี นำมาประยุกต์ใช้การเทคนิคการสานเส้นบนพื้นที่กว้างๆ ด้วยการสานเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆต่อๆกันให้เต็มพื้นที่ เช่นเดียวกับการสานเส้น1ชั้นแบบตัวอย่างด้านบนได้ด้วยครับ



จะเห็นได้ชัดเจนเลยครับว่าการสานเส้น2ชั้นแบบแรก ที่ใช้องศาในการขีดเส้น90องศา งานที่ออกมาจะดูมีพื้นผิวที่หยาบ แข็ง เหมาะสำหรับเอาไว้ใช้สานอาคารบ้านเรื่อน พื้น ก้อนหิน หรืออะไรก็ตามที่มีผิวสัมผัสที่แข็ง ในขณะที่การสานเส้น2ชั้นแบบที่สองที่ใช้องศาของเส้นค่อนข้างน้อยนั้น งานที่ได้จะดูนุ่มกว่า ซึ่งก็อาจจะเก็บเอาไว้ใช้กับการสานเส้นเป็นเงาเข้มชั้นสองแก่พวกพื้นผิวเสื้อผ้า ผิวเนื้อ หรืออะไรก็ตามที่มีผิวสัมผัสนิ่มครับ

               *tip*
               การสานเส้น2ชั้นบนพื้นที่กว้างๆ แนะในให้ทำการสานเส้น1ชั้นให้ครบเต็นพื้นที่เสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาสานทั้งชั้นที่2ทีละก้อนครับ

การสานเส้นนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการขีดเส้นขัดกันไปมาเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นศาสตร์ในด้านงานภาพชนิดหนึ่งที่สื่อสารทางอารมณ์และความรู้สึกไปยังผู้ชมด้วย เพราะฉะนั้นการบรรจงขีดเส้นแต่ละ กะระยะช่องไฟแต่ละช่อง เลือกรูปแบบและองศาในการขีดเส้นขัดลงไป ทั้งหมดก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องผ่านการฝึกฝนให้เกิดทั้งความชำนาญ ความเข้าใจ เกิดความเคยชินแก่มือ สายตา และการตัดสินใจว่าจะต้องขีดเส้นออกมาแบบไหน จึงจะสวยงามและสื่อสารกับคนที่ดูงานเราได้ไปในทิศทางที่ดีที่สุดด้วยครับ...

แต่เนื้อหาของเทคนิคการสานเส้นยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้นะครับ ในครั้งหน้า เรายังคงเหลือเทคนิคการสานเส้นแบบ 3 – 4 ชั้น และตัวอย่างงานจริงที่ใช้เทคนิคการสานเส้นแบบเต็มๆทั้งภาพมาฝากกันอีก ยังไงก็อดใจรอกันอีกนิด และเอาไว้คอยติดตามกันให้ดีนะครับ
ส่วนใครอ่านแล้วมีข้อสงสัยหรือข้อเสนอแนะใดๆ ก็สามารถติดต่อสอบถามหรือพิมพ์คอมเม้นท์กันไว้ได้ ทั้งที่นี่และทางfacebook fanpageของเรา ที่นี่ ครับ

แล้วเจอกันอีกทีในตอนหน้าครับ!

แนะนำที่สอนวาดการ์ตูน "Manga Step Course" และ "Ginkgo Manga Studio"

สวัสดีครับผม กลับมาพบกับบทความใหม่ของManga Course Partyอีกครั้งหนึ่งนะครับ
โดยEntryนี้เราจะมีที่สอนวาดการ์ตูนที่อื่นๆมาแนะนำให้เพื่อนๆทุกคนได้รู้จักกัน...

หลายคนอาจสงสัย....ทำไมที่สอนวาดการ์ตูนอย่างManga Course Party ถึงได้มีการแนะนำที่เรียนที่อื่นด้วย....ไล่ลูกค้ารึไง หรือมีการได้รับค่าโฆษณาจากที่อื่น.....

คือไม่มีครับ!! 5555 ไม่ได้ไล่ลูกค้าด้วยนะ!!

ที่เอามาแนะนำกันนี่ ก็เพื่อเป็นอีกทางเลือกหรือตัวเลือกหนึ่ง สำหรับผู้ที่สนใจในการ "เรียนวาดการ์ตูนอย่างสนุกสนานครับ" บางคนอาจมีปัจจัยเรื่องการเดินทางหรือช่วงเวลาเรียนที่ทางเรียนมีให้เลือกนั้น อาจจะไม่ได้สะดวกต่อใครหลายๆคนเท่าไรนัก ทางผมเลยนำมาแนะนำกัน โดยที่ทั้งสองสถานที่เรียนวาดการ์ตูนนี้นั้นผมการันตีได้เลยว่า...คุณจะสนุกกับการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และสนุกสนานเป็นกันเอง ให้ความรู้สึกเหมือนเรานั่งเรียนกับเพื่อน กับพี่กับน้องกันเองด้วยกันทั้งนั้นครับ

แต่ขอออกตัวก่อนเลยว่าทั้งสองที่นั้น ทางผู้สอนต่างก็รู้จักกับทางManga Course Partyของเราอยู่แล้ว เรียกได้ว่าอาจจะเป็นพี่น้องร่วมวงการด้านการเปิดรับสอนวาดการ์ตูนเหมือนกัน...แต่ก็ไม่ได้นำมาแนะนำให้ทุกคนได้รู้จักกันเพียงแค่เพราะความสนิทสนมหรือจะช่วยกันดันแต่อย่างใด...เรานำมาแนะนำในด้านของฝีมือ คุณภาพงาน แล้วความรู้สึกต่อการได้เรียนล้วนๆครับ

เกริ่นโม้ไปซะเยอะ เรามาเข้าเรื่องกันดีกว่า....
ที่แรกที่อยากจะแนะนำให้รู้จักกันก็คือ "Manga Step Course" ครับ



Manga Step Course นำเสนอการสอนโดย "ทศ" หนุ่มหน้ามนผู้มีดีกรีจบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต แต่มีใจรักด้านการวาดภาพประกอบและการ์ตูน อีกทั้งยังเคยร่วมงานกับทางผู้สอนของManga Course Partyมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ทั้งงานร่วมกันสอนวาดการ์ตูน และการออกEventต่างๆ

นอกจากนี้ "ทศ" ยังเป็นผู็สอนที่มีประสบการณ์ในการทำงานประเภทออกEventการวาดภาพสดตามงานต่างๆมาแล้วมากมาย ซึ่งเป็นประสบการณ์ภาคสนามที่คนเรียนทุกคนจะได้สัมผัสจากตัวผู้สอนอย่างทศเองอย่างแน่นอนครับ

โดยที่ตัวManga Step Courseนั้น ในขณะนี้จะมีเนื้อหารายวิชาให้เลือกเรียนกันตามความสนใจ ดังต่อไปนี้ครับ

Basic Manga Course (คอร์สวาดคนขั้นพื้นฐาน) ,
Advance Manga Course (คอร์สวาดคนต่อจาก Basic) ,
Watercolor Course (คอร์สวาดสีน้ำ) ,
Colorpencil Course (คอร์สวาดสีไม้)
และ Perspective Course (คอร์สวาดอาคาร)

เรียกได้ว่าครบครันและครบเครื่องเลย สำหรับหมวดหมู่ในการสอน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีความชอบความสนใจใฝ่เรียนด้านนี้ แม้ว่าจะไม่ใช่สายการ์ตูนโดยตรง ก็สามารถเลือกเรียนพวกคอร์สสีน้ำ สีไม้ หรือวาดฉากอาคารได้ครับ เพราะอย่างที่บอกไป..ตัวผู้สอนนั้นก็จนสายตรงมาจากคณะสถาปัตยกรรมเลยทีเดียว

ตัวสถานที่เรียนหรือห้องเรียนนั้นก็ดูโล่งสบาย ปรอดโปร่ง น่านั่งมากครับ







จะสังเกตได้ว่าตัวคนเรียนนั้น ก็มีทุกเพศทุกวัยเลย

ส่วนด้านเนื้อหา ทางผู้สอนก็ขนมาทั้งด้านปฏิบัติและทฤษฎีครับ ครบถ้วน





เป็นยังไงกันบ้างครับกับบบรยากาศคร่าวๆของManga Step Course
ใครที่สนใจก็สามารถตามกันไปอ่านรายละเอียดกันได้ที่ตัวเว็บโดยตรง ที่
http://www.mangastepcourse.com/
หรือจะทางแฟนเพจในfacebook 
https://www.facebook.com/MangaStepCourse/

ใครที่อยู่หรือสะดวกย่านเซนทรัล เวสเกต ก็สามารถตามไปเรียนกันได้นะครับ กับManga Step Courseนี้
แถมแผนที่ด้วยอ่ะ!!

......................................................................................

ส่วนอีกที่นึงที่ภูมิใจนำเสนอเช่นกัน เป็นที่สอนที่ผมเคยไปนั่งเล่นมาแล้ว (คนสอนวาดการ์ตูนที่นึง แต่ไปนั่งเล่นที่ที่สอนของอีกเจ้านึง....ดูสิ นิสัย 5555)
นั่นก็คือที่ Ginkgo Manga Studio


Ginkgo Manga Studio เปิดสอนโดยสองสาวอย่าง "เนียร์" และ "แก้ว" ผู้เคยมีผลงานตีพิมพ์กับโปรเจ็ครวมเรื่องสั้นจากทางบ้าน ของCartoonThai Studioมาแล้ว!

เผื่อนึกกันไม่ออกว่าเรื่องไหน....ม่ะ เอามาให้ดูกัน



ด้วยฝีไม้ลายมือ ผมเองยังสงสัยเลยว่า...ทำไมไม่เป็นนักเขียอาชีพไปเลยห๊ะ!!!! 

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นผลงานการ์ตูนหรือภาพประกอบต่างๆที่ผ่านมา เลยไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะมีคนมากมายชื่นชอบในตัวผลงานของทั้งสองสาวนี้ และรอมาเรียนกับทั้งสองคนในGinkgo Manga Studioแห่งนี้ครับ

ซึ่งทางGinkgo Manga Studioเอง ก็มีคอร์สเรียนให้ลงกันดังนี้ครับ
1. BETA (การตัดเส้น ถมดำ)2. PRACTICE (การฝึกฝนในส่วนที่วาดไม่ถนัด)3. MANGA (การวาดการ์ตูนพื้นฐานจนถึงการทำต้นฉบับการ์ตูนช่อง) *เฉพาะวันธรรมดาและช่วงบ่ายวันเสาร์และอาทิตย์4. WATERCOLOR (สีน้ำพื้นฐานสไตล์การ์ตูน)

(ทำไมทั้งManga Step Course กับ Ginkgo Manga Studio ถึงได้มีสอนสีน้ำทั้งคู่เลย...แต่ทางManga Course Partyของเราไม่มี....คำตอบคือ.....ทางเรา...ใช้ ไม่ เป็น ครับ ...555555)







จะเห็นว่าทางGinko Manga Studioนั้น ให้ความสำคัญกับเทคนิคการทำงานมือมากๆ ก็ถือว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ผู้ที่ฝึกหัดทางด้านนี้ควรเรียนรู้และศึกษาให้เป็น เพื่อนำไปต่อยอดงานของตัวเองในรูปแบบต่างๆได้ครับ

และGinko Manga Studioนี้ ก็มีบรรยากาศการเรียนที่แสนจะเป็นกันเองอีกต่างหาก





........(ผมคิดcaptionไม่ออก รูปนี้....)

อีกทั้งที่นี่ยังเดินทางสะดวกสบายด้วยนะครับ เพราะตึกสอนเองก็แทบจะอยู่ติดกับBTSสถานีบางจากเลย

สำหรับใครที่สนใจเรียนกับทางGinko Manga Studio ก็สามารถติดต่อ ติดตาม ถามไถ่ กันได้ที่แฟนเพจของพวกเขาได้ครับ ที่ https://www.facebook.com/ginkgomanga.s


เป็นไงครับกับทั้งสองแห่งที่นำมาแนะนำกันในEntryนี้
อย่างที่บอกไปข้างต้นครับว่าไม่ได้นำมาแนะนำกันเพราะด้วยความที่ผมสนิทสนมกับทางสองแห่งนี้ แต่มาจากความรู้สึกล้วนๆครับว่าทั้งสองแห่ง (แม้กระทั่งManga Course Partyของผมเอง) ต่างก็มีที่มา ที่ไป ใช้แรงกายแจใจและความมุ่งมั่นของตัวเอง ก่อนร่างสร้างคอร์สเรียนของตัวเองขึ้นมาอย่างเล็กๆแต่ภาคภูมิใจ และเน้นสอนให้คนเรียนมีความรู้สึกสนุกไปกับสิ่งที่ตัวเองทำเป็นอันดับแรก มากกว่าการเรียนรู้อย่างกดดันและจริงจังจนเกินความรู้สึกในวินาทีเริ่มแรกของการวาดการ์ตูนว่า.....เราเริ่มต้นทำมันด้วยความรู้สึกสนุกและมีความสุขมากแค่ไหน

ใกล้บ้านใครก็ลุย
ชอบสไตล์ไหนก็ลอง

และสุดท้าย
เลือกเรียนด้วยหัวใจที่มีความสุขครับ.



Copyright © 2014 Manga Course Party | Blog Created by JoJho.com